กรุสำหรับ มกราคม, 2012

โยส เซาเต็น ชาวฮอลันดาที่เข้ามาติดต่อค้าขายในพระนครศรีอยุธยา (ฝรั่งชาติแรกที่เข้ามากรุงศรีอยุธยา คือ ปอร์ตุเกส ในสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 พ.ศ.2034-2072) ได้เขียนพรรณนาความสวยงามและความมั่งคั่งของกรุงศรีอยุธยาไว้ว่า 

 

” พระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานีและเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ บรรดาขุนนาง ข้าราชการ เจ้านายทั้งหลายทั้งปวงก็อยู่ที่พระนครศรีอยุธยานี้ เมืองเมืองนี้ตั้งอยู่บนเกาะเล็ก ๆ ในแม่น้ำเจ้าพระยา ท้องที่รอบนอกเป็นที่ราบไปทั่วทุกทิศ รอบกรุงศรีอยุธยามีกำแพงหินสร้างอย่างหนาแน่นแข็งแรง รอบกำแพงวัดได้ 2 ไมล์ฮอลันดา จึงเป็นนครหลวงที่กว้างขวางใหญ่มาก ภายในพระนครมีโบสถ์ วิหาร วัดวาอารามสร้างขึ้นอยู่ติด ๆ กัน ประชาชนพลเมืองผู้อยู่อาศัยก็มีอยู่หนาแน่น ภายในกำแพงเมืองมีถนนกว้างตัดตรงและยาวมาก และมีคลองขุดจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาในพระนคร จึงสะดวกแก่การสัญจรไปมาได้ทั่วถึงกัน นอกจากถนนและคลอง ยังมีคูเล็ก ๆ และตรอกซอยอีกเป็นอันมาก ด้วยเหตุนี้ในฤดูน้ำ เรือพายทั้งหลายทั้งปวงจึงสามารถที่จะผ่านเข้าออกติดต่อกันได้จนถึงหัวกะไดบ้าน บ้านที่อยู่อาศัยนั้นปลูกขึ้นตามแบบบ้านแขกอินเดีย แต่มุงหลังคาด้วยกระเบื้อง พระนครศรีอยุธยานี้จึงเป็นนครที่โอ่อ่า เต็มไปด้วยโบสถ์วิหาร ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 300 และก่อสร้างอย่างวิจิตรพิสดารที่สุด โบสถ์วิหารเหล่านี้มีปรางค์ เจดีย์ และรูปปั้น รูปหล่อมากมายใช้ทองฉาบอยู่ภายนอกสีเหลืองอร่ามทั่วไปหมด เป็นพระมหานครที่สร้างอยู่ข้างฝั่งแม่น้ำ โดยมีผังเมืองวางไว้อย่างเป็นระเบียบจึงเป็นนครที่สวยงามมาก ตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม มีประชาชนหนาแน่น และเต็มไปด้วยสินค้าสิ่งของจำเป็นแก่ชีวิต นำเข้ามาขายจากนานาประเทศ เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ ยังไม่มีพระมหากษัตริย์องค์ใดในแถบนี้ของโลก ที่จะมีเมืองใหญ่โตมโหฬารวิจิตรพิสดารและสมบูรณ์พูนสุขเหมือนกับพระมหากษัตริย์ ณ ราชอาณาจักรนี้ พระนครศรีอยุธยาอยู่ในภูมิฐานที่ดีและมั่นคง สุดวิสัยที่ข้าศึกศัตรูจะโจมตียึดครองได้ง่าย ๆ เพราะทุก ๆ ปี น้ำจะท่วมขึ้นมาถึง 6 เดือนทั่วท้องที่นอกกำแพง จึงเป็นการบังคับให้ศัตรูอยู่ไม่ได้ ต้องล่าถอยทัพไปเอง”

 

ประวัติการครองราชย์ของพระมหากษัตริย์และเหตุการณ์โดยย่อ 

     สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.1893 เป็นกษัตริย์ราชวงศ์เชียงราย ทรงปกครองกรุงศรีอยุธยาจนถึง พ.ศ. 1912 ก็สวรรคต
     พระราเมศวรพระราชโอรสที่ครองเมืองลพบุรีเสด็จมาเสวยราชแทนพระราชบิดา (พ.ศ.1912-1913) แต่ขุนหลวงพะงั่ว พระปิตุลา (อา) เสด็จเข้ามาหมายจะครองราชย์ จึงทรงสละราชบัลลังก์กลับไปครองเมืองลพบุรีดังเดิม
     ขุนหลวงพะงั่วเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า พระบรมราชาธิราชที่ 1 เป็นต้นราชวงศ์สุวรรณภูมิ ครองราชย์ พ.ศ.1913 ถึงพ.ศ.1931 เสด็จสวรรคต
     พระเจ้าทองลัน ราชโอรสขึ้นเสวยราชย์แทน เมื่อพระชนมายุ 15 พรรษา เพียง 7 วัน พระราเมศวรก็เสด็จมาจับปลงพระชนม์
     สมเด็จพระราเมศวร ทรงครองราชย์ตั้งแต่พ.ศ.1931 ถึงพ.ศ.1938 ทรงเป็นจอมทัพยกไปตีเมืองกำพูชาได้
     สมเด็จพระรามราชาธิราช พระราชโอรสเสวยราชสมบัติแทนพระราชบิดา พ.ศ.1938 ครั้นถึงพ.ศ.1952 ก็เกิดเหตุการณ์แย่งชิงราชสมบัติเป็นครั้งแรกของกรุงศรีอยุธยา คือพระราชนัดดาของขุนหลวงพะงั่วที่ครองเมืองสุพรรณมาจับพระรามราชาธิราชปลงพระชนม์แล้วขึ้นครองราชย์แทน ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนครินทราชาธิราช
     สมเด็จพระนครินทราชาธิราช ครองราชย์ พ.ศ.1952 ถึงพ.ศ.1967 มีพระโอรส 3 พระองค์ คือ เจ้าอ้ายพระยา โอรสองค์ใหญ่ทรงให้ครองเมืองสุพรรณ เจ้ายี่พระยา โอรสองค์กลางให้ครองเมืองสรรค์ และเจ้าสามพระยา โอรสองค์เล็กให้ครองเมืองชัยนาท เมื่อพระราชบิดาสวรรคต โอรสทั้งสามก็ยกทัพเข้ากรุงศรีอยุธยา เจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยาชนช้างกันที่เชิงสะพานป่าถ่าน สวรรคตบนคอช้างทั้งสองพระองค์ เจ้าสามพระยายกทัพมาภายหลังก็เข้ากรุงศรีอยุธยาเสวยราชย์สมบัติแทนพระราชบิดาทรงพระนามว่า พระบรมราชาธิราชที่ 2
     สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ครองราชย์ พ.ศ.1967 ถึงพ.ศ.1991 ทรงมีพระราชโอรสทรงพระนามว่า พระราเมศวร โปรดให้ไปครองหัวเมืองเหนือ ณ เมืองพิษณุโลก ครั้นพระราชบิดาสวรรคตก็เสด็จขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดา ทรงพระนามว่า พระบรมไตรโลกนาถ
     สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ครองราชย์ พ.ศ. 1991 ถึง พ.ศ.2031 เหตุการณ์สำคัญในสมัยนี้คือ ทรงยกทัพไปรบกับพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ทรงยกเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองหลวง เสด็จไปประทับพ.ศ. 2006 จนสวรรคตที่นั่น ส่วนกรุงศรีอยุธยาให้เป็นเมืองลูกหลวง โปรดให้พระบรมราชา พระโอรสองค์ใหญ่มาครอง สมัยนี้มีการปรับปรุงระบบการปกครองเป็น เวียง วัง คลัง นา และบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก
     สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ครองราชย์ พ.ศ.2031 ถึงพ.ศ.2034 เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แทนพระราชแทนพระราชบิดาทำให้กรุงศรีอยุธยากลับมาเป็นเมืองหลวง แต่ครองราชย์ได้เพียง 3 ปีก็สวรรคต พระอนุชาต่างพระมารดาขึ้นเสวยราชย์สมบัติแทนทรงพระนาม สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2
     สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ครองราชย์ พ.ศ.2034 ถึง พ.ศ.2072 ในสมัยนี้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นครั้งแรก คือ ฝรั่งชาวปอร์ตุเกสได้เข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรก ในสมัยนี้ได้จัดทำตำราพิชัยสงคราม เมื่อเสด็จสวรรคตสมเด็จพระอาทิตย์วงศ์พระราชโอรสขึ้นเสวยราชย์แทน ทรงพระนามว่า พระบรมราชามหาหน่อพุทธางกูร
     สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 (หน่อพุทธธางกูร) ครองราชย์ พ.ศ.2072 ถึงพ.ศ.2076 ทรงครองราชย์ได้เพียง 5 ปีก็ประชวรทรพิษสวรรคต พระรัษฎาธิราชกุมาร พระชนม์ 5 พรรษา ขึ้นเสวยราชย์แทน
     สมเด็จพระรัษฎาธิราชกุมาร ครองราชย์พ.ศ.2076 อยู่ได้เพียง 5 เดือน พระไชยราชาธิราชก็ปลงพระชนม์และขึ้นครองราชย์แทน
     สมเด็จพระไชยราชาธิราช เสวยราชย์ พ.ศ.2077 ถึงพ.ศ.2090 ได้ทำสงครามกับพม่าเป็นครั้งแรก ทำให้รบกันยาวนานต่อมาถึง 300 ปีเศษ เมื่อเสด็จสวรรคต พระแก้วฟ้า พระโอรสองค์ใหญ่ พระชนมายุ 11 พรรษาขึ้นครองราชย์สืบแทน
     สมเด็จพระยอดฟ้า ครองราชย์สมบัติ พ.ศ.2090 ถึงพ.ศ.2091 มีเจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เป็นผู้สำเร็จราชการมีเหตุการณ์สำคัญคือ เจ้าแม่อยู่หัวเป็นชู้กับพันบุตรศรีเทพและยกขึ้นเป็นขุนวร และเกิดราชบุตร ต่อมาสมเด็จพระแก้วฟ้าก็ถูกลอบปลงพระชนม์ ส่วนขุนวรวงศาธิราช เจ้าแม่ศรีสุดาจันทร์และราชบุตร ถูกขุนพิเรนทรเทพและขุนนางเสนาบดีจับปลงพระชนม์ที่คลองสระบัว และไปเชิญสมเด็จพระเฑียรราชา ซึ่งเป็นพระอนุชาต่างพระมารดาของสมเด็จพระไชยราชาธิราชให้ทรงลาผนวชเสด็จขึ้นครองราชย์แทนทรงพระนาม สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ขุนพิเรนทรเทพ เชื้อสายวงศ์สุโขทัยได้รับความชอบ สถาปนาเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชา
     สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ครองราชย์ พ.ศ. 2091 ถึงพ.ศ.2106 และครั้งที่ 2 พ.ศ.2111 ถึงพศ.2112 ทรงยกพระราชธิดาอันเกิดจากสมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระราชทานเป็นพระมเหสีพระมหาธรรมราชา ให้ไปครองเมืองพิษณุโลก เกิดสงครามกับพม่า พระศรีสุริโยทัยสิ้นพระชนม์บนคอช้าง ณ ทุ่งภูเขาทอง พ.ศ.2091 หลังเสวยราชเพียง 6 เดือน ส่วนพม่าเสียพระเจ้าแปร ทำให้เปลี่ยนแผ่นดินเป็นบุเรงนอง เกิดการรบใหญ่ระหว่างไทยกับพม่า ทางด้านกรุงศรีอยุธยา พระมหาจักรพรรดิ์ทรงสละราชสมบัติออกผนวช ให้พระมหินทราธิราชครองราชย์แทน
     สมเด็จพระมหินทราธิราช ครองราชย์ พ.ศ.2106 ถึงพ.ศ.2111 และครั้งที่ 2 พ.ศ.2112 บุเรงนองยกทัพใหญ่ล้อมกรุงศรีอยุธยา พระมหินทราธิราชทรงอ้อนวอนพระราชบิดาให้ทรงลาผนวชมาบัญชาการรบ การรบครั้งนี้กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เพราะพระยาจักรีเป็นไส้ศึก พม่าล้อมเมืองถึง 9 เดือน กำลังจะถึงฤดูน้ำหลาก กรุงศรีอยุธยาแตกวันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 11 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ.2112 ก่อนน้ำหลากมาท่วมทุ่งอยุธยาเพียง 20 วันเท่านั้นเอง
     สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ครองราชย์ พ.ศ.2112 ถึง พ.ศ.2133 เป็นสมัยที่กรุงศรีอยุธยาตกเป็นเมืองประเทศราชภายใต้การปกครองของพม่า มีพระราชธิดาคือพระสุพรรณกัลยาณี และพระราชโอรสสองพระองค์ คือ สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ พระสุพรรณกัลยาณีและสมเด็จพระนเรศวร พระเจ้าหงสาวดีขอไปเป็นตัวประกันตั้งแต่พระนเรศวรพระชนมายุ 9 พรรษา พระราชบิดาทูลขอกลับมาเมื่อขึ้นเสวยราชย์ ขณะนั้นพระชนมายุ 15 พรรษา พระบิดาโปรดให้ไปครองเมืองพิษณุโลก ครั้นวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2127 พระนเรศวรทรงประกาศอิสระภาพ ณ เมืองแกรง ซึ่งเป็นเวลาถึง 15 ปีที่ไทยตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ถึงพ.ศ.2133 พระมหาธรรมราชาเสด็จสวรรคต
     สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครองราชย์พ.ศ.2133 ถึงพ.ศ.2148 เกิดสงครามใหญ่ระหว่างไทยกับพม่า เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2135 เรียกว่า สงครามยุทธหัตถี พระมหาอุปราชามังสามเกียดต้องพระแสงของ้าวสิ้นพระชนม์ขาดคอช้าง ทำให้พม่าไม่กล้ายกทัพมารบกับไทยเป็นเวลานานนับร้อยปี สมเด็จพระนเรศวรสวรรคตพ.ศ.2148
     สมเด็จพระเอกาทศรถ ครองราชย์พ.ศ.2149 ถึงพ.ศ.2163 เป็นช่วงบ้านเมืองสงบ มีการขยายความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านและการค้ากับต่างประเทศมากขึ้น สวรรคตพ.ศ.2163
     สมเด็จเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ พระราชโอรสขึ้นเสวยราชย์แทนพระราชบิดา พ.ศ.2163 – พระศรีสินซึ่งเป็นพระอนุชาสละสมณเพศออกมาจับปลงพระชนม์ แล้วขึ้นครองราชย์แทน ทรงพระนามว่า พระเจ้าทรงธรรม
     สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ครองราชย์พ.ศ.2163 ถึงพ.ศ.2172 สมัยนี้มีการค้าขายกับชาติตะวันตกและสร้างมณฑปสวมพระพุทธบาท เมื่อเสด็จสวรรคต พระเชษฐาธิราช พระราชโอรสองค์ใหญ่เสด็จครองราชย์แทน
     สมเด็จพระเชษฐาธิราช ครองราชย์ พ.ศ.2171 ถึงพ.ศ.2172 มีเหตุทรงระแวงเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นโอรสลับของพระเอกาทศรถที่เกิดจากนางอินบาทบริจาริกาตอนเสด็จเกาะบางปะอิน ทรงให้จับเจ้าพระยากลาโหม แต่ความแตก เจ้าพระยากลาโหมจึงจับปลงพระชนม์ แล้วยกพระอาทิตยวงศ์ พระราชโอรสองค์เล็กของพระเจ้าทรงธรรม พระชนมายุ 9 พรรษาขึ้นครองราชย์
     สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ ครองราชย์ พ.ศ.2172 ยังทรงพระเยาว์นัก ครองราชย์ได้ 6 เดือน เสนาบดีและขุนนางทั้งหลายลงมติให้ปลดและยกเจ้าพระยากลาโหมเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
     สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ครองราชย์ พ.ศ.2172 ถึงพ.ศ.2199 ในสมัยนี้มีภารติดต่อกับประเทศตะวันตก การลบศักราชและขยายอำนาจไปปกครองเขมร เมื่อเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้าไชยพระราชโอรสขึ้นครองราชย์แทน
     สมเด็จเจ้าฟ้าไชย ครองราชย์ พ.ศ.2199 แต่ไม่ถึงปี พระศรีสุธรรมราชาและพระนารายณ์ พระราชโอรสอีกองค์หนึ่งของพระเจ้าปราสาททองก็ล้มราชบัลลังก์
     สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา ครองราชย์ พ.ศ.2199 แต่อยู่เพียงสามเดือนเกิดสงครามกลางเมืองกับพระนารายณ์ ถูกพระนารายณ์สังหาร ยึดราชบัลลังก์สำเร็จ
     สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครองราชย์ พ.ศ.2199 ถึงพ.ศ.2231 เป็นสมัยที่มีการติดต่อค้าขายกับฝรั่งมากที่สุด ได้ย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองลพบุรี เมื่อสวรรคตเกิดสงครามแย่งชิงราชสมบัติ พระเพทราชายึดอำนาจได้จึงขึ้นครองราชย์แทน
     สมเด็จพระเพทราชา ครองราชย์ พ.ศ.2231 ถึงพ.ศ.2246 ตระกูลเดิมคือตะพุ่นหญ้าช้าง เป็นราชวงศ์บ้านพลูหลวงซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายก่อนกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผาทำลาย มีขุนหลวงสรศักดิ์เป็นอุปราช พอเสด็จสวรรคต เกิดสงครามกลางเมืองเพื่อแย่งราชบัลลังก์ ขุนหลวงสรศักดิ์ได้ขึ้นครองราชย์

ทรงพระนามว่า พระศรีสรรเพชญที่ 8
     สมเด็จพระศรีสรรเพชญที่ 8 (พระเจ้าเสือ) ครองราชย์ พ.ศ.2246 ถึงพ.ศ.2252 อยู่ในราชบัลลังก์ 6 ปี สวรรคต พระราชโอรสคือ พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ขึ้นเสวยราชย์แทน
     สมเด็จพรเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ครองราชย์ พ.ศ.2252 ถึงพ.ศ.2275 ปลายรัชกาลเริ่มมีความขัดแย้งระหว่างกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) และเจ้าฟ้าอภัย เมื่อพระราชบิดาสวรรคตก็เกิดสงครามกลางเมืองแย่งชิงราชสมบัติ เจ้าฟ้าอภัยแพ้ถูกสำเร็จโทษ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นเสวยราชย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
     สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ครองราชย์ พ.ศ.2276 ถึงพ.ศ.2301 พระองค์มีพระราชโอรส 3 พระองค์คือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ทรงตั้งให้เป็นพระอุปราช เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี และเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ต้องโทษเพราะลอบรักกับพระสนมของพระราชบิดา ถูกเฆี่ยนจนถึงพิราลัย เมื่อใกล้สิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงมอบราชสมบัติให้กรมขุนพรพินิต ส่วนกรมขุนอนุรักษ์มนตรี โอรสองค์ใหญ่ทรงขับไล่ไปบวช เมื่อสิ้นรัชกาลเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต ขึ้นเสวยราชย์ ทรงพระนาม สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร คนมักเรียกว่า ขุนหลวงหาวัด
     สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ครองราชย์ พ.ศ.2301 ครองราชย์ได้เพียง 19 วัน กรมขุนอนุรักษ์มนตรีก็สึกออกมาจึงทรงมอบราชสมบัติให้ พระองค์ทรงออกผนวช ณ วัดประดู่ทรงธรรม กรมขุนอนุรักษ์มนตรีที่พระบิดาเคยตรัสว่า “โฉดเขลาหาควรเป็นกษัตริย์ไม่…” ก็เสวยราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์
     สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ (สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์) ครองราชย์ พ.ศ.2301 ถึงพ.ศ.2310 ขุนนางไม่พอใจจึงพากันออกบวชเป็นอันมาก ปลายปีพ.ศ.2308 กองทัพพม่าเห็นความระส่ำระส่ายของกรุงศรีอยุธยาจึงยกกองทัพเข้าตีตามรายทาง และเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าเอกทัศน์ไม่มีพระสติปัญญาบริหารบ้านเมืองและบัญชาการรบ จึงให้อัญเชิญเจ้าฟ้าอุทุมพรทรงลาผนวชมาครองราชย์และบัญชาการรบทำให้พระเจ้าเอกทัศน์อยากครองราชย์อีก เจ้าฟ้าอุทุมพรทรงรำคาญพระทัยเลยเสด็จออกทรงผนวชอีก ส่วนพระเจ้าเอกทัศน์ก็ทรงสำราญและมัวเมาในอิสตรีไม่เอาพระทัยใส่ในการป้องกันบ้านเมือง พม่าล้อมเมือง 1 ปีกับ 2 เดือน ขุดอุโมงค์เผากำแพงพังลงมา บุกเข้ากรุงศรีอยุธยาได้
     เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2310 ตรงกับวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน นพศก จุลศักราช 1129 ไล่ฆ่าผู้คน ปล้นเมืองจุดไฟเผาทุกสิ่งทุกอย่าง กรุงศรีอยุธยาที่รุ่งเรืองสืบต่อกันมา 417 ปีก็ถึงกาลพินาศย่อยยับ ไม่อาจฟื้นคืนมาเป็นราชธานีแห่งกรุงสยามอีกต่อไป เป็นอันสิ้นสุดประวัติศาสตร์อันยาวนานของกรุงศรีอยุธยาโดยสิ้นเชิง ซึ่งเกิดจากการแตกสามัคคีและแก่งแย่งชิงดีและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนของคนไทยนั่นเอง

 

 

 

พระมหากษัตริย์ที่ปกครองกรุงศรีอยุธยา

พระมหากษัตริย์ที่ปกครองกรุงศรีอยุธยาตลอดระยะเวลา 417  ปี มีทั้งหมด 33 พระองค์

แบ่งเป็น 5 ราชวงศ์ ดังนี้

 

ราชวงศ์อู่ทอง  (ครั้งที่ 1)
1. สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) พ.ศ. 1893-1912 (19 ปี )
2. สมเด็จพระราเมศวร (สมัยที่ 1) พ.ศ. 1912-1913 (ไม่ถึงปี)

ราชวงศ์สุพรรณภูมิ  (ครั้งที่ 1)
3. สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) พ.ศ. 1913-1931 (18 ปี )
4. เจ้าทองลั่น พ.ศ. 1931-1931 ( 7วัน )

ราชวงศ์อู่ทอง  (ครั้งที่ 2)
สมเด็จพระราเมศวร (สมัยที่ 2) พ.ศ. 1931-1938 ( 7ปี )
5. สมเด็จพระเจ้ารามราชาธิราช พ.ศ. 1938-1952 (14 ปี )

ราชวงศ์สุพรรณภูมิ  (ครั้งที่  2)
6. สมเด็จพระนครินทราธิราช หรือ สมเด็จพระอินทราชา พ.ศ. 1952-1967 (15 ปี )
7. สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) พ.ศ. 1967-1991 ( 24 ปี )
8. สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. 1991-2031 ( 40 ปี )
9. สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระอินทราราชาที่ 2) พ.ศ. 2031-2034 ( 3 ปี )
10. สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระเชษฐา) พ.ศ. 2034-2072 ( 38 ปี )
11. สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (หน่อพุทธางกูร) พ.ศ. 2072-2076 ( 4 ปี )
12. พระรัษฎาธิราช พ.ศ. 2076-2077 ( 5 เดือน )
13. สมเด็จพระไชยราชาธิราช พ.ศ. 2077-2089 ( 12 ปี )
14. พระยอดฟ้า หรือ พระแก้วฟ้า พ.ศ. 2029-2091 ( 2 ปี )
15. สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พ.ศ. 2091-2111 ( 20 ปี )
16. สมเด็จพระมหินทราธิราช พ.ศ. 2111-2112 ( 1 ปี )
(เสียกรุงศรีอยุธยาแกพม่าครั้งที่ 1)

 

ราชวงศ์สุโขทัย
17. สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พ.ศ. 2112-2133 ( 31 ปี )
18. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พ.ศ. 2133-2148 ( 15 ปี )
19. สมเด็จพระเอกาทศรถ พ.ศ. 2148-2153 ( 5 ปี )
20. เจ้าฟ้าเสาวภาคย์ พ.ศ. 2153-2153
21. สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ. 2153-2171 ( 17 ปี )
22. สมเด็จพระเชษฐาธิราช พ.ศ. 2171-2172 ( 8 เดือน )
23. สมเด็จพระอาทิตย์วงศ์ พ.ศ. 2172-2172 ( 28 วัน )

ราชวงศ์ปราสาททอง
24. สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. 2172-2199 ( 27 ปี )
25. สมเด็จเจ้าฟ้าไชย พ.ศ. 2199-2199 ( 3-4 วัน )
26. สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา พ.ศ. 2199-2199 ( 2 เดือน )
27. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2199-2231 ( 32 ปี )

ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
28. สมเด็จพระเพทราชา พ.ศ. 2231-2246 ( 15 ปี )
29. สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือ สมเด็จพระเจ้าเสือ (ขุนหลวงสรศักดิ์)  พ.ศ. 2146-2251 ( 5 ปี )
30. สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 หรือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พ.ศ. 2251-2275 ( 24 ปี )
31. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พ.ศ. 2275-2301 ( 26 ปี )
32. สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) พ.ศ. 2301-2301 ( 2 เดือน )
33. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หรือ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ
                   *****  พ.ศ. 2301-2310 ( 9 ปี )(เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ 2 )  ****

 

 

 

 

 

 

สมัยกรุงสุโขทัย

Posted: มกราคม 13, 2012 in Uncategorized

พระมหากษัตริย์สมัยกรุงสุโขทัย

สุโขทัยเป็นนครหลวงแห่งแรกของประชาชนเชื้อสายไทย สังคมไทยในยุคนี้มีลักษณะเป็นสังคมเผ่า มีความเกี่ยวพันและผูกพันกันอย่างหนาแน่นในสายโลหิต อาณาเขตของสุโขทัยในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ประกอบด้วยเมืองสุโขทัยและศรีสัชชนาลัยเท่านั้น

ต่อมาได้ขยายกว้างขวางขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ความสัมพันธ์ของประชาชนก็มีลักษณะเป็นความสัมพันธ์ทางใจอันเกิดจากความรู้สึกว่าเป็นคนสายเลือดเดียวกันและอยู่ภายใต้การปกครองโดย “พ่อขุน” องค์เดียวกัน ตามหลักฐานศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

แนวคิดเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในสมัยสุโขทัยนี้ทรงเป็นผู้ครองนคร ซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิเหนืออาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง สิทธิการเป็นพระมหากษัตริย์สืบทอดโดยการสืบสันตติวงศ์ ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงตัวผู้ปกครองแผ่นดิน พระมหากษัตริย์ยังคงเป็นของชาวพุทธแท้ๆ ไม่มีคตินิยมแบบพราหมณ์เข้ามาปะปน พอสิ้นรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงจนถึงรัชกาลกษัตริย์องค์ต่อๆมา เช่น พระมหาธรรมราชาลิไท อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์เริ่มเข้ามา กษัตริย์เริ่มเป็นเทพยดา แต่ก็ยังยึดศาสนาพุทธอยู่ จึงเป็นแค่ “ธรรมราชา” ซึ่งเป็นคำในศาสนาพุทธ เหมือนที่ใช้เรียกพระเจ้าอโศก แต่หลังจากนั้นเริ่มเป็น “รามาธิบดี”

จะขอยกตัวอย่างพระมหากษัตริย์ที่สำคัญในสมัยสุโขทัย

1.   พ่อขุนศรีอินทราทิตย์

พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ หรือพระนามเต็ม กำมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์ พระนามเดิม พ่อขุนบางกลางหาว ทรงเป็นปฐมวงศ์ราชวงศ์พระร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัย ครองราชสมบัติ ตั้งแต่ พ.ศ. 1782 (คำนวณศักราชจากคัมภีร์สุริยยาตรตามข้อเสนอของ ศ. ประเสริฐ ณ นครและ พ.อ.พิเศษ เอื้อน มณเฑียรทอง) แต่ไม่ปรากฏหลักฐานการสวรรคตหรือสิ้นสุดการครองราชสมบัติปีใด มีผู้สันนิษฐานที่มาของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ จากคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์ว่าบ้านเดิมของพระองค์อาจอยู่ที่ “บ้านโคน” ในจังหวัดกำแพงเพชร

พระราชกรณียกิจ

พ่อขุนศรีอินทราทิตย์เมื่อครั้งยังเป็นพ่อขุนบางกลาวหาวได้ร่วมกับพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราดแห่งราชวงศ์ศรีนาวนำถุม รวมกำลังพลกัน กระทำรัฐประหารขอมสบาดโขลญลำพง โดยพ่อขุนบางกลางหาวตีเมืองศรีสัชนาลัยและ เมืองบางขลงได้ และยกทั้งสองเมืองให้พ่อขุนผาเมือง ส่วนพ่อขุนผาเมืองตีเมืองสุโขทัยได้ ก็ได้มอบเมืองสุโขทัยให้พ่อขุนบางกลาวหาว พร้อมพระขรรค์ชัยศรีและพระนาม “ศรีอินทรบดินทราทิตย์” ซึ่งได้นำมาใช้เป็นพระนาม ภายหลังได้คลายเป็น ศรีอินทราทิตย์ โดยคำว่า “บดินทร” หายออกไป เชื่อกันว่าเพื่อเป็นการแสดงว่ามิได้ เป็น บดีแห่งอินทรปัต คืออยู่ภายใต้อิทธิพลของเขมร (เมืองอินทรปัต) อีกต่อไป การเข้ามาครองสุโขทัยของพระองค์ ส่งผลให้ราชวงศ์พระร่วงเข้า มามีอิทธิพลในเขตนครสุโขทัยเพิ่มมากขึ้น และได้แผ่ขยายดินแดนกว้างขวางมากออกไป แต่เขตแดนเมืองสรลวงสองแคว ก็ยังคงเป็นฐานกำลังของราชวงศ์ศรีนาวนำถุมอยู่

ในกลางรัชสมัย ทรงมีสงครามกับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด ทรงชนช้างกับขุนสามชน แต่ช้างทรงพระองค์ ได้เตลิดหนีดังคำในศิลาจารึกว่า “หนีญญ่ายพ่ายจแจ” ขณะนั้นพระโอรสองค์เล็ก ทรงมีพระปรีชาสามารถ ได้ชนช้างชนะขุนสามชน ภายหลังจึงทรงเฉลิมพระนามพระโอรสว่ารามคำแหง

ในยุคประวัติศาสตร์ชาตินิยม มีคติหนึ่งที่เชื่อกันว่า พระองค์ทรงเป็นผู้นำชนชาติไทย ต่อสู้กับอิทธิพลขอมในสุวรรณภูมิ ทรงได้ชัยชนะและประกาศอิสรภาพตั้งราชอาณาจักรสุโขทัยขึ้น และทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย แต่ภายหลัง คติดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง เพราะพระองค์ไม่ได้เป็นปฐมกษัตริย์ แต่พระองค์ถือว่าเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย

พระราชวงศ์

พ่อขุนศรีอินทราทิตย์มีพระราชโอรสและพระธิดารวม 5 พระองค์ ได้แก่

1. พระราชโอรสองค์โต (ไม่ปรากฏนาม)เสียชีวิตตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

2. พ่อขุนบานเมือง

3. พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พระนามขณะที่ยังทรงพระเยาว์ไม่ปรากฏ)

4. พระธิดา (ไม่ปรากฏนาม)

5. พระธิดา (ไม่ปรากฏนาม)

แม้ไม่ทราบแน่นอนว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ในปีใด แต่ภายหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว พ่อขุนบานเมือง ผู้เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ ได้สืบราชสมบัติแทน

2.   พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 3 ในราชวงศ์พระร่วงแห่งราชอาณาจักรสุโขทัย เสวยราชย์ประมาณ พ.ศ. 1822 ถึงประมาณ พ.ศ. 1841 พระองค์ทรงรวบรวมอาณาจักรไทยจนเป็นปึกแผ่นกว้างขวาง ทั้งยังได้ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้น ทำให้ชาติไทยได้สะสมความรู้ทางศิลปะ วัฒนธรรม และวิชาการต่าง ๆ สืบทอดกันมากว่าเจ็ดร้อยปี

พระราชประวัติ

พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 3 ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับนางเสือง พระเชษฐาองค์แรกสิ้นพระชนม์ตั้งแต่พ่อขุนรามฯ ยังทรงพระเยาว์ พระเชษฐาองค์ที่สองทรงพระนามตามศิลาจารึกว่า “พระยาบานเมือง” ซึ่งได้เสวยราชย์ต่อจากพระราชบิดา และเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว พ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็เสวยราชย์แทนต่อมา

ตามพงศาวดารโยนก พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งสุโขทัย พ่อขุนเม็งรายมหาราชแห่งล้านนา และพ่อขุนงำเมืองแห่งพะเยา เป็นศิษย์ร่วมพระอาจารย์เดียวกัน ณ สำนักพระสุตทันตฤๅษี ที่เมืองละโว้ จึงน่าจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน โดยพ่อขุนเม็งรายประสูติเมื่อ พ.ศ. 1782 พ่อขุนรามฯ น่าจะประสูติในปีใกล้เคียงกันนี้

เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีพระชนมายุสิบเก้าพรรษา ได้ทรงทำยุทธหัตถีมีชัยต่อพ่อขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด (อยู่บนน้ำแม่สอดใกล้จังหวัดตาก แต่อาจจะอยู่ในเขตประเทศพม่าในปัจจุบัน) พระราชบิดาจึงทรงขนานพระนามว่า “พระรามคำแหง” ซึ่งแปลว่า “พระรามผู้กล้าหาญ”

จากจดหมายเหตุจีน พ่อขุนรามคำแหงมหาราชสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 1841 และพระยาเลอไทยซึ่งเป็นพระราชโอรสได้เสวยราชย์แทนในปีนั้น

พระราชกรณียกิจ

รัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นยุคที่กรุงสุโขทัยเฟื่องฟูและเจริญ ขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก ระบบการปกครองภายในก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยอย่างมีประสิทธิภาพ มีการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศทั้งในด้านเศรษฐิกิจและการเมือง ประชาชนอยู่ดีกินดี สภาพบ้านเมืองก้าวหน้าทั้งทางเกษตร การชลประทาน การอุตสาหกรรม และการศาสนา อาณาเขตของกรุงสุโขทัยได้ขยายออกไปกว้างใหญ่ไพศาล

การบริหารรัฐกิจ

เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงขจัดอิทธิพลของเขมรออกไปจากกรุงสุโขทัยได้ในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 การปกครองของกษัตริย์สุโขทัยได้ใช้ระบบปิตุราชาธิปไตยหรือ “พ่อปกครองลูก” ดังข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า

…เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดกินอร่อยดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตีหนังวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่อบ้านท่อเมือง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นาง ได้เงือนได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู…

ข้อความดังกล่าวแสดงการนับถือบิดามารดา และถือว่าความผูกพันในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ ครอบครัวทั้งหลายรวมกันเข้าเป็นเมืองหรือรัฐ มีเจ้าเมืองหรือพระมหากษัตริย์เป็นหัวหน้าครอบครัว

ปรากฏข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงใช้พระราชอำนาจในการยุติธรรมและนิติบัญญัติไว้ดัง ต่อไปนี้ 1) ราษฎรสามารถค้าขายได้โดยเสรี เจ้าเมืองไม่เรียกเก็บจังกอบหรือ ภาษีผ่านทาง 2) ผู้ใดล้มตายลง ทรัพย์มรดกก็ตกแก่บุตร และ 3) หากผู้ใดไม่ได้รับความเป็นธรรมในกรณีพิพาท ก็มีสิทธิไปสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้หน้าประตูวังเพื่อถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ได้

นอกจากนี้ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชยังทรงใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องช่วยในการปกครอง โดยได้ทรงสร้างพระแท่นมนังคศิลาบาตรขึ้น เพื่อให้พระเถรานุเถระแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันพระ ส่วนวันธรรมดาพระองค์จะเสรด็จประทับเป็นประธานให้เจ้านายและข้าราชการปรึกษาราชการร่วมกัน

ประดิษฐกรรม

พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เมื่อ พ.ศ. 1826 ตัวหนังสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีลักษณะพิเศษกว่าตัวหนังสือของชาติอื่นซึ่งขอยืมตัวหนังสือของอินเดียมา ใช้ กล่าวคือ พระองค์ได้ทรงประดิษฐ์พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ เพิ่มขึ้นให้สามารถเขียนแทนเสียงพูดของคำในภาษาไทยได้ทุกคำ กับทั้งได้นำสระและพยัญชนะมาอยู่ในบรรทัดเดียวกันโดยไม่ต้องใช้พยัญชนะซ้อน กัน ทำให้เขียนและอ่านหนังสือไทยได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น

วรรณกรรมสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชสูญหายไปหมดแล้ว คงเหลือแต่ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ. 1835) ซึ่งแม้จะมีข้อความเป็นร้อยแก้ว แต่ก็มีสัมผัสคล้องจองทำให้ไพเราะซาบซึ้งตรึงใจ เช่น

…ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว…ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย…เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พิน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด

นับเป็นวรรณคดีเริ่มแรกของกรุงสุโขทัยซึ่งตกทอดมาถึงปัจจุบันโดยมิได้มีผู้คัดลอกให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิม

3.   พระยาลิไท (พระมหาธรรมราชาที่ 1)

พญาลิไท หรือ พระยาลิไท หรือ พระศรีสุริยพงศ์รามมหาราชาธิราช หรือพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ครองราชย์ พ.ศ. 1897 – พ.ศ. 1919) พระมหากษัตริย์อาณาจักรสุโขทัยราชวงศ์พระร่วงลำดับที่ 5 พระโอรสพญาเลอไท และพระราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

พญาลิไทเป็นกษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งกรุงสุโขทัย ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระยางัวนำถม จากหลักฐานในศิลาจารึกวัดพระมหาธาตุ พ.ศ. 1935 หลักที่ 8 ข. ค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2499 ได้กล่าวว่า เมื่อพระยาเลอไทสวรรคต ใน พ.ศ. 1884 พระยางัวนำถมได้ขึ้นครองราชย์ ต่อมาพระยาลิไทยกทัพมาแย่งชิงราชสมบัติได้ และขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 1890 ทรงพระนามว่า พระศรีสุริยพงสรามมหาธรรมราชาธิราช ในศิลาจารึกมักเรียกพระนามเดิมว่า “พระยาลิไท” หรือเรียกย่อว่า พระมหาธรรมราชาที่ 1

พญาลิไททรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ทรงผนวชในพระพุทธศาสนาเมื่อ พ.ศ. 1905 ที่วัดป่ามะม่วง นอกเมืองสุโขทัยทางทิศตะวันตก ทรงอาราธนาพระสามิสังฆราชจากลังกาเข้ามาเป็นสังฆราชใน กรุงสุโขทัย เผยแพร่เพิ่มความเจริญให้แก่พระศาสนามากยิ่งขึ้น ทรงสร้างและบูรณะวัดมากมายหลายแห่ง รวมทั้งการสร้างพระพุทธรูปเป็นจำนวนมาก เช่น พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา และพระพุทธรูปองค์สำคัญองค์หนึ่งของประเทศคือ พระพุทธชินราช ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญหลายประการ เช่น สร้างถนนพระร่วงตั้งแต่เมืองศรีสัชนาลัยผ่านกรุงสุโขทัยไปถึงเมืองนครชุม (กำแพงเพชร) บูรณะเมืองนครชุม สร้างเมืองสองแคว (พิษณุโลก) เป็นเมืองลูกหลวง ด้านอักษรศาสตร์ทรงพระปรีชาสามารถนิพนธ์หนังสือไตรภูมิพระร่วงที่นับเป็นงานนิพนธ์ที่เก่าแก่ที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย

ความหมายของพระมหากษัตริย์ไทย 

ความหมายของ “ พระมหากษัตริย์ ” ตามรูปศัพท์ หมายถึง “ นักรบผู้ยิ่งใหญ่ ” คำว่า “ มหา ” แปลว่า ยิ่งใหญ่และคำว่า “ กษัตริย์ ” แปลว่า นักรบ ถ้าจะถือตามความหมายที่ใช้กันอยู่ทั่วไปและความเข้าใจตามธรรมดาแล้วพระมหากษัตริย์ก็คือพระเจ้าแผ่นดิน ในภาษาสันสกฤตคำว่า กษัตริย หมายถึงผู้ป้องกันหรือนักรบ คติที่เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่าเป็นพระมหากษัตริย์นั้นเรารับมาจากคำในภาษาสันสกฤตซึ่งมีความหมายสองนัยคือ คติจากธรรมเนียมการใช้วรรณะของอินเดียซึ่งถือว่า “ กษัตริย์ ” รวมถึงพวกนักรบด้วย และคติที่สองหมายถึงผู้ปกครองแผ่นดินซึ่งสืบเนื่องมาจากคติ “ มหาสมมติ ” ซึ่งถือว่ามหาชนเป็นผู้เลือกกษัตริย์

มีคำเรียกพระมหากษัตริย์หลายคำเช่น ราชราชา พระราชา หรือราชัน หมายถึง ผู้ชุบน้อมจิตใจของผู้อื่นไว้ด้วยธรรม จักรพรรดิ หมายถึง ผู้ปกครองที่ปวงชนพึงใจและเป็นผู้มีคุณธรรมสูง และใกล้เคียงกับคำว่า ธรรมราชา หมายถึง ผู้รักษาและปฏิบัติธรรมทั้งเป็นต้นเหตุแห่งความยุติธรรมทั้งปวง คำว่าพระเจ้าอยู่หัว หมายถึง พระผู้เป็นผู้นำ หรือประมุขของประเทศ และคำว่า “ พระเจ้าแผ่นดิน ” หมายถึงพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของแผ่นดิน(เขตคาม อธิปติ)ซึงเขียนไว้ในกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จที่ประกาศในรัชสมัยพระเจ้าอู่ทองเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๓  ไม่จะเลือกใช้คำใด คำว่า

“ ราชา ”  “ กษัตริย์ ” “ จักรพรรดิ ” โดยความหมายแล้วน่าจะใช้เหมือนๆกัน อย่างไรก็ดีในสังคมไทยเรียกพระมหากษัตริย์ว่า “ ในหลวง ” “ พ่อหลวง ” “ พ่อของแผ่นดิน ” ความหมายก็คือเป็นผู้ปกครองที่เปรียบเหมือนพ่ออยู่เหนือเกล้าเหนือชีวิตซึ่งชนชาวไทยมีความจงรักภักดีชั่วกาลนาน     ความหมายของพระมหากษัตริย์ในเรื่องการเมืองการปกครองของไทยที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์แต่เดมีแนวคิดสองประการคือ ถือว่าพระมหากษัตริย์คือ หัวหน้าครอบครัวใหญ่ที่มีความสัมพันธ์กันทางสายเลือดกับหมู่คณะและประการที่สองคือ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐในทางการเมืองหรือเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดโดยเฉพาะในยุโรปมีความเชื่อในเรื่อง ลัทธิเทวสิทธิ์ ( Divine right of King ) และถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยและมีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ รวมทั้งมีอำนาจโดยสมบูรณ์ (Absolute)

หลักการและเหตุผล

Posted: มกราคม 13, 2012 in Uncategorized

1.  หลักการในการเลือกทำหัวข้อนี้  

คือ   หัวข้อที่กระผมเลือกทำนั้นคือ  พระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์   ซึ่งในการที่ผมจะเลือกทำหัวข้อนี้ คือ ผมต้องการที่จะรู้ ประวัติความเป็นมาของพระมหากษัตริย์ ทั้ง  9 รัชกาล ที่ได้ครองราชย์ในกรุงรัตนโกสินทร์   และในหัวข้อนี้ผมได้ทำการสอดแทรกลำดับของพระมหากษัตริย์ในสมัยต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็น  สมัยกรุงสุโขทัย  สมัยอยุธยา  สมัยธนบุรี  และสุดท้าย คือ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์    เพื่อที่เราจะได้รู้ถึงวีรกรรมของพระมหากษัตริย์ที่ถือว่าเป็นมหาราช   เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช , พ่อขุนรามคำแหงมหาราช , พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  เป็นต้น      เรื่องราวของพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น ท่านได้เสียสละเลือดเนื้อของพระองค์ท่าน เพื่อแลกกับอิสรภาพของประเทศไทย ก่อนที่จะมาเป็นขวานทองนั้น มันยากยิ่งนัก  เราต้องต่อสู้ รบกับข้าศึก  ทำสัญญาในมัยรัชกาลที่ 4 คือ สนธิสัญญาเบาว์ริง  เป็นสนธิสัญญาที่เราจะเสียเปรียบทางด้านสิทธิสหภาพนอกอาณาเขต อย่างเช่น  คนตะวันตกทำผิดในประเทศไทย  คนตะวันตก ต้องไปขึ้นศาลของฝรั่ง เพราะคนตะวันตกกลัวบทลงโทษของไทย  เพราะในสมัยนั้นมีการลงโทษที่มีความรุนแรงมาก  เป็นต้น

2.  เหตุผลในการเลือกทำหัวข้อนี้ 

คือ   เพราะผมต้องการที่จะศึกษาประวัติความเป็นมาในเรื่องต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์ไทยในยุคสมัยต่าง ๆ  ก็คือ  กรุงสุโขทัย  กรุงศรีอยุธยา  กรุงธนบุรี  และพระมหากษัตริย์ที่ผมจะต้องการเน้นที่จะศึกษาคือ พระมหากษัตริย์ในกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่  1  –  รัชกาลที่  9   มีราชื่อพระมหากษัตริย์  ดังนี้

รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

รัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลร์

รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯ

Hello world!

Posted: มกราคม 6, 2012 in Uncategorized

Welcome to WordPress.com. After you read this, you should delete and write your own post, with a new title above. Or hit Add New on the left (of the admin dashboard) to start a fresh post.

Here are some suggestions for your first post.

  1. You can find new ideas for what to blog about by reading the Daily Post.
  2. Add PressThis to your browser. It creates a new blog post for you about any interesting  page you read on the web.
  3. Make some changes to this page, and then hit preview on the right. You can always preview any post or edit it before you share it to the world.